การพัฒนาความสามารถทางการคิด โดยยึดทฤษฎีทางความคิดของ Barrette นำมาใช้กับการพัฒนาทักษะทางภาษาที่เป็นทักษะการรับภาษา คือทักษะการฟัง และทักษะการอ่าน ทฤษฎีนี้แบ่งระดับความสามารถทางการคิดไว้ 5 ขั้น คือ
1. ขั้น Literal Comprehension เป็นขั้นที่อยู่ลำดับต้นที่สุดและพัฒนาง่ายที่สุด คือการเข้าใจภาษาตามตัวอักษรที่อ่านและฟัง เช่น การจับคู่คำศัพท์กับรูปภาพ การลากเส้นแสดงการเชื่อมโยง การติดป้ายชื่อ การตอบคำถามจากเนื้อเรื่อง
2. ขั้น Reorganization Comprehension คือการจัด การรวบรวม การแบ่งกลุ่มข้อมูลที่ได้จากการฟังและการอ่านเสียใหม่ เช่น การจัดกลุ่มคำศัพท์ การหาคำที่ไม่เข้าพวก การจัดข้อมูลใหม่
3. ขั้น Inferential Comprehension คือขั้นการตีความหมาย ของสิ่งที่ฟังและอ่าน เช่นการหาความหมายคำศัพท์จากปริบท การตีความหมายของประโยคที่แสดงความหมายโดยนัย การสรุปเหตุการณ์ หรือลักษณะของตัวละครที่ไม่ได้ระบุในเนื้อความ
4. ขั้น Evaluation คือการประเมินค่าสิ่งที่อ่านและฟังทั้งที่เป็นเนื้อหา และแนวคิด การนำเสนอของผู้เขียน เช่นให้ระบุข้อความที่เป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นข้อคิดเห็น เป็นเรื่องจริงหรือเป็นสิ่งเหนือจริง การแสดงการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของผู้เขียน หรือที่ปรากฏในเนื้อความ
5. ขั้น Appreciation คือการพัฒนาหรือการวัดความซาบซึ้ง ทัศนคติ ความคิดเห็นต่อเนื้อหา แนวคิด การนำเสนอของผู้เขียน การแสดงความคิดเห็นว่า ชอบหรือไม่ชอบ เพราะเหตุใด หรือถ้าผู้เรียนเป็นตัวละครในเรื่องจะทำอย่างไร