5. ส่งเสริมสนับสนุนผู้สอนให้สามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกัน จากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ

6. จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดา มารดา ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตราที่ 6 ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่เน้นความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข ครูจะต้องมีวิธีการที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดพหุปัญญา พหุปัญญา (multiple intelligences หรือ MI) เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้และสติปัญญา ผู้กำหนดทฤษฎีนี้คือ การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา การ์ดเนอร์ได้ศึกษาศักยภาพและความถนัดของคน โดยการผสมผสานศาสตร์ด้านการศึกษา สมองและจิตวิทยาพัฒนาการ ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาทุกระดับในประเทศ การ์เนอร์เชื่อว่า สติปัญญาคือความสามารถทางชีวภาพที่แต่ละคนแสดงออกมา เกิดจากการผสมผสานระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม คนเรามีสติปัญญาอย่างน้อย 7 ด้าน ได้แก่ ด้านภาษา (verbal / linguistic) ด้านตรรกะ/ด้านคณิตศาสตร์ (logic / mathematical) ด้านมิติสัมพันธ์/ศิลปะ (visual / spatial) ด้านความถนัดทางร่างกายและการเคลื่อนไหว (bodily / kinesthetic) ด้านดนตรี/จังหวะ (music / rhythmic) ด้านมนุษย์สัมพันธ์ (interpersonal) และด้านความเข้าใจตนเอง (intrapersonal) สติปัญญาแต่ละด้านขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนและแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ต่อมาในปี ค.ศ. 1988 การ์ดเนอร์ ได้เพิ่มปัญญาด้านที่ 8 คือ ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (naturalist) และในปี ค.ศ. 1999 การ์ดเนอร์ได้เสนอแนะปัญญาด้านที่ 9 คือ ด้านความเข้าใจชีวิต (existential)